กรมการแพทย์แผนไทย แนะนำ ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ห่างไกล 4 โรคฮิต พบบ่อยช่วงฤดูหนาว

ในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออากาศเย็นตัวลง ผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพตนเองเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะมีอาการเจ็บป่วยได้มากกว่า โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แนะวิธีการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร เพื่อรับมือกับ 4 อาการหลักในกลุ่มผู้สูงอายุ ช่วงฤดูหนาว อันได้แก่ (1) อาการที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ (2) อาการที่เกี่ยวกับโรคทางผิวหนัง (3) โรคระบบไหลเวียนโลหิต และ (4) อาการปวดข้อ ปวดเข่า ดังนี้:

อาการที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ

อาการที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ อันได้แก่ ไข้หวัด ไอ เจ็บคอ ในช่วงที่อากาศเย็น หากพบว่าผู้สูงวัยมีอาการไอ เป็นไข้ แนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจร บรรเทาอาการไข้ ไอ เจ็บคอ โดยให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจร ชนิดแคปซูล ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 3 แคปซูล หรือสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หรือกินตามคำแนะนำของฉลากกำกับยา สำหรับยาฟ้าทะลายโจรห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียเกิดอาการรุนแรง หากมีอาการไอร่วมด้วย สามารถใช้ยาแก้ไอสมุนไพร เช่น ยาประสะมะแว้ง ยาตรีผลา ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรเลี่ยงการทำกิจกรรมในชุมชนหนาแน่น และต้องล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ

อาการที่เกี่ยวกับโรคทางผิวหนัง

เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง อาจเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุมีอาการผิวแห้ง แตก อักเสบ เป็นผื่นคัน เนื่องจากผิวหนังขาดความชุ่มชื้น ดังนั้น ควรบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยผลิตภัณฑ์จาก ว่านหางจระเข้ แตงกวา มะเขือเทศ น้ำมันมะพร้าว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยในเรื่องของการบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น ไม่แห้งกร้าน

อาการเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต

เนื่องจากอาการที่หนาวเย็นและการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง และความเป็นไปได้ที่อาจมีการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงในช่วงเวลานี้ ผู้สูงอายุที่มีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ อยู่เดิม ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ในกรณีผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ต้องปฏิบัติตนตามแพทย์สั่ง และควรรับประทานอาหารที่เหมาะสม เช่น เนื้อปลา ไข่ ผักผลไม้ รวมถึงสมุนไพรบางชนิดที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง บัวบก ใบเตย ตะไคร้ หากมีอาการป่วยร่วมด้วย และสำหรับท่านใดมีโรคไขมันในเลือดสูง แนะนำสมุนไพรใกล้ตัวที่หาได้ในครัวเรือน เช่น กระเทียม มีสรรพคุณ ช่วยลดระดับไขมันที่ไม่ดีในร่างกาย ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

อาการปวดข้อ ปวดเข่า

สามารถรักษาด้วยการนวดเฉพาะจุด เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนบริเวณข้อเข่า ลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ ข้อเข่า

หลังจากนั้น สามารถประคบสมุนไพรหรือใช้ยาพอกเข่า เป็นการเสริมประสิทธิภาพของการนวดเพื่อลดอาการอักเสบและลดอาการปวด ซึ่งการประคบสมุนไพรยังสามารถนำมาประคบได้ด้วยตนเองโดยนำลูกประคบไปนึ่งแล้วใช้ประคบขณะยังอุ่นวันละ 1 – 2 ครั้ง แต่ต้องระมัดระวังควบคุมไม่ให้ลูกประคบร้อนเกินไป เพราะจะทำให้ผิวหนังเกิดอาการไหม้ และห้ามประคบบริเวณที่มีบาดแผล

สำหรับอาหารที่ช่วยบำรุงข้อและกระดูก

ได้แก่ อาหารจำพวกธัญพืช เมล็ดถั่ว เมล็ดงา ผักใบเขียว นม ปลาเล็กปลาน้อย ซึ่งเป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูง มีส่วนช่วยในการสร้างความแข็งแรงของกระดูกและข้อ และควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแรงของข้อเข่าอีกด้วย

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลสุขภาพช่วงฤดูหนาว

นอกเหนือจากการใช้ยาสมุนไพร ผู้สูงอายุสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อเป็นการลดมูลเหตุของการเกิดโรค เช่น งดการแบกหาม หรือทำงานหนักเกินกำลัง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ตลอดจนฝึกสมาธิ หรือสวดมนต์ เพื่อผ่อนคลาย ลดอาการจากภาวะเครียดในเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

ติดตามบทความและข่าวสุขภาพที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้ที่ corpmedzambia.com